ได้ยิน และ ได้ฟัง ดูเหมือนแต่ไม่เหมือน
ก่อนอื่นต้องบอกที่มาของประเด็นของการถกเถียงกันอยู่ของที่บ้านของกระผมเอง ถึงเรื่องของการ “ได้ยิน” และ “ได้ฟัง” ว่าจริงๆแล้วมันเหมือนกันหรือไม่ ตัวกระผมเองก็ไม่นิ่งนอนใจที่จะอยากรู้ให้ได้ว่าจริงแท้แล้วนั้นมันต่างหรือไม่ต่างกัน จนได้คำตอบออกมาแบ่งปันให้กับทุกๆ คนที่อาจจะมีปัญหาเช่นเดียวกัน
เริ่มเลยแล้วกัน การ “ได้ยิน” “ได้ฟัง” ใครๆก็คิดว่าเหมือนกันใช่ไหม เพราะดูผ่านๆ กระบวนการที่เกิดขึ้นอาจจะมีลักษณะที่คล้ายๆกัน แต่ถ้าลองพิจารณาให้ดี จะเห็นได้ถึงความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง
เริ่มที่การ “ได้ยิน” ก่อนเลยแล้วกัน การได้ยินนั้นเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามหน้าที่อัตโนมัติของร่างกาย ที่มีระบบของโสตประสาทในการรับรู้คลื่นเสียงที่เกิดขึ้นต่างๆ รอบตัวเรา ส่วนการรับรู้จะได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับปัจจัยของระดับความดังของเสียง ระยะของแหลงกำเนิดเสียง และสภาพของการทำงานของหูแต่ละบุคคล
ต่อมาก็การ “ได้ฟัง” ก็คล้ายๆกันกับการได้ยิน เพราะต้องพึ่งพาระบบโสตประสาทในการรับรู้เหมือนกัน แต่ที่ไม่เหมือนคือ การฟังเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างตั้งใจ ของตัวเราเอง โดยต้องให้ความสนใจต่อสิ่งที่ได้ฟังอย่างเต็มที่ และมีการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์สิ่งที่ได้ฟังจนสามารถเกิดความเข้าใจความหมายของแหล่งต้นกำเนิดเสียงนั้นๆ
รู้หรือไม่ว่า การได้ยินเสียงนั้นเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดพัฒนาการเรียนรู้ต่างๆ ของเด็กโดยเฉพาะเรื่องของการพูด โดยเด็กจะเริ่มจากการเลียนเสียงที่ได้ยินดังนั้นหากเด็กที่มีปัญหาหรือผิดปกติทางด้านการได้ยิน ก็จะส่งผลกระทบให้เด็กเรียนรู้การพูดได้ช้าหรือไม่สามารถพูดได้เลยก็ได้
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเราคงเห็นภาพของความเหมือนที่ไม่เหมือนของการ “ได้ยิน” และ “ได้ฟัง” กันแล้วใช่ไหม ต่อไปนี้เราจะได้เข้าใจกันได้สักที่เวลาที่ได้ยินใครต่อใครเถียงกันว่า การได้ยินและการได้ฟังมันก็เหมือนๆ กันนั้นแหละ ต่อไปนี้เราก็จะตอบพวกเขาเหล่านั้นได้อย่างเต็มปากสักทีว่าทั้งสองแบบนั้นอาจดูเหมือนแต่ไม่เหมือนกันนะ
แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้